ความจอมปลอมคืออุปสรรคของเสรีภาพ

 
1. ไอ้ยอด
 
ผมรู้จักกับไอ้ยอดครั้งแรกตอน ม.2  ตอนนั้นในชั้นเรียนมีผู้ชายเพียง 13 คน (จาก 52 คน) ซึ่งถือว่าน้อย เพราะโรงเรียนสามเสนในยุคนั้นจะจัดสัดส่วนผู้ชายต่อผู้หญิงแต่ละชั้นเรียนไว้ประมาณครึ่งต่อครึ่ง 
 
ไอ้ยอดค่อนข้างจะคุณหนูกว่าคนอื่นเพราะพ่อแม่ขับรถเก๋งคันงานมารับส่งตลอด  เทียบกับอุเทนซึ่งเป็นเด็กวัดไผ่ตัน ไอ้ไวท์กับชัยรัตน์ซึ่งโหนรถไฟมาเรียนด้วยกัน (โดยที่คนแรกฐานะธรรมดาๆ แต่คนหลังบ้านมีกิจการอสังหาริมทรัพย์)  หรือผมซึ่งเดินเท้าไปกลับระหว่างบ้านและโรงเรียน และเพื่อนคนอื่นๆ ที่ส่วนมากขึ้นรถเมล์กัน
 
อาจด้วยเหตุนั้นที่ทำให้ไอ้ยอดไม่ค่อยได้เที่ยวเตร่กับพวกเรามากนัก  มีอยู่พักหนึ่งตอนม. 3 ซึ่งเกม Street Fighter มาถึงเมืองไทยครั้งแรกและได้รับความนิยมสูงสุด  พวกเพื่อนๆ ผมต้องดิ่งไปเล่มเกมตู้กันทุกเย็นหลังเลิกเรียน ส่วนมากไปที่วงศ์สว่างเพราะไม่ไกลเกินไปและบ้านพวกเขาอยู่แถวนั้น ผมเคยไปด้วยสองสามครั้งเพราะผมไม่ถนัดเรื่องเล่นเกม  แต่กิจกรรมอื่นๆ ผมไปไหนไปด้วยกันหมด เช่น ไปหาซื้อหนังสือโป๊ ดูหนัง ตามชัยรัตน์ไปตกปลา หรือแม้แต่แกร่วๆ ไปบ้านกันและกัน ตามประสาเด็กมัธยมต้น
 
ในความทรงจำของผมไอ้ยอดไม่ได้มาร่วมกิจกรรมของพวกเราเท่าไร  แต่ภาพความทรงจำที่โดดเด่นมากของไอ้ยอด คือ การหมุนสมุดหรือกระทั่งกระเป๋านักเรียนไว้บนปลายนิ้วในยามว่าง และภาพที่ยอดชอบใช้โต๊ะประหนึ่งกลองชุดประกอบการเคาะโต๊ะในห้องเรียน
 
ขึ้นม. ปลายเราอยู่คนละห้อง ผมคิดว่าทางบ้านคงให้อิสระไอ้ยอดมากขึ้น เห็นมันไปไหนๆ กับเพื่อนร่วมห้องม.ปลายบ่อยขึ้น  และยังตั้งวงดนตรีกับเพื่อนๆ (ซึ่งนั่นหมายถึงการต้องมีเวลาซ้อมร่วมกันนอกเวลาเรียน)  ตอนงานอำลาอาลัยม. 6 ไอ้ยอดและวงยังขึ้นไปเล่นดนตรีในงานนั้น….ผมทราบเพียงว่ายอดเอ็นท์ไม่ติดแล้วเข้าเรียนที่หอการค้า จากนั้นผมไม่ได้เจอกับไอ้ยอดอีกเลย
 
…มาทราบอีกที ไอ้ยอดก็ออกเทปในนามวง "บอดี้แสลม" เรียบร้อยแล้ว แม้ว่ามันจะเล่นกีต้าร์ไม่ใช่กลอง  แต่อย่างน้อยสำหรับเพื่อนห่างๆ คนหนึ่งอย่างผม ผมมีความสุขมากที่ได้รู้ความเป็นไปของเพื่อน  และที่มีความยินดีไม่ใช่เพราะเขาได้เป็น somebody  แต่ในฐานะที่รู้จักกันมาแต่เด็ก แล้วรู้ถึงความคลั่งไคล้ดนตรีของเขา จึงยินดีที่ดนตรีพาชีวิตเพื่อนไปสู่ทางที่เขาชอบได้สำเร็จ
 
2. ปวีณ
 
ผมรู้จักกับปวีณตอนผมอยู่ม. 6 ส่วนปวีณอยู่ม. 5  คนละม. คนละห้อง และคนละสายการเรียนเพราะเขาเรียนศิลป์  แต่บรรยากาศในสามเสนสมัยนั้นดีอยู่อย่างหนึ่ง คือ คุณจะเลือกคบใครก็ได้  ผมไปสนิทกับปวีณและเพื่อนๆ ร่วมห้องของเขา ด้วยเหตุว่าตอนนั้นผมไม่มีความสุขกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนตนเอง จนผมไปสุงสิงกับน้องๆ ต่างชั้นเรียนมากกว่ากับเพื่อนร่วมชั้นเรียน
 
มีครั้งหนึ่งน้องก้อย ซึ่งอยู่ห้องเดียวกับปวีณนั่นแหละ เอากล้องวิดีโอมาที่โรงเรียนซึ่งเราได้ถ่ายวิดีโอกันเล่นๆ ตามประสา  ปวีณจัดแจงกำกับให้คนนู้นคนนี้ แสดงท่าทีต่างๆ จัดมุมให้ยืน ทำตามเขากำกับ แล้วเขาก็ตัดต่อภาพในกล้องนั้น พอเรามาดูกันปรากฏว่า เขาสามารถทำวิดีโอที่ฉายให้ออกมาเหมือน special effect เช่น ทำให้คนหายตัว หรือเอาภาพคนอ้วนมาตัดสลับกับคนผอมเหมือนว่าแปลงร่างได้
 
ตอนนั้นผมทั้งดูทั้งขำและทึ่งว่าปวีณเก่ง กล้องตัวแค่นี้ แถมไม่ใช่ของของตัวเองยังอุตส่าห์เล่นกับมันได้ขนาดนี้
 
ตอนผมเรียนจบม.6 ปวีณเขียน friendship ให้ด้วย  เขาใช้วิธีตัดภาพตามนิตยสาร ภาพการ์ตูน มาประกอบกับภาพที่เขาวาดเอง   พวกน้องก้อยยังบอกว่าปวีณทำให้พี่นูแบบเจ๋งมากๆ  ซึ่งผมได้รับมาแล้วยังซาบซึ้งในความอุตสาหะของเขา
 
ไม่เป็นที่ปิดบังว่าปวีณอยากเรียนนิเทศ เขาเอ็นท์ติดนิเทศจุฬาหลังจากจบม. 6   ผมเคยเจอปวีณคราวหนึ่งสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เจอกันที่สามแยกเตาปูนบ้านเขาอยู่แถวนั้น ผมขับรถอยู่และเขาข้ามถนน เลยเรียกมาทักทายกัน …นั่นคือครั้งหลังสุดที่ผมเจอปวีณ
 
หลังจากนั้น ข่าวคราวของปวีณมาให้ผมรับทราบทางสื่อ เพราะเขาเป็นหนึ่งในผู้กำกับหนังเรื่องสี่แพร่ง ตอนนั้นผมตามอ่านข่าวและบทวิจารณ์สี่แพร่งยกใหญ่ และเพิ่งมารู้ว่าก่อนนั้นเขากำกับเรื่องบอดี้ศพ 19 มาแล้ว แต่ผมมันเชยเองที่ไม่รู้และไม่เคยดู และยิ่งกว่านั้นคือก่อนจะมากำกับหนังเขากำกับมิวสิควิดีโอมามากพอสมควร
 
ผมยังไม่ได้ดูสี่แพร่งจนบัดนี้  แต่จำได้เลาๆ ว่าบทวิจารณ์อันหนึ่งบอกว่า หนังในส่วนที่ปวีณกำกับเน้นการตัดภาพและเทคนิคภาพ….นั่นทำให้ผมหวนนึกถึงตอนเราเล่นกล้องวิดีโอสมัยเรียนสามเสนด้วยกันขึ้นมาทันที
 
นี่เป็นอีกกรณีที่สร้างความยินดีกับผม เพราะได้รับรู้ว่าฉันทะของปวีณพาตัวเขาไปในเส้นทางที่เขาน่าจะเป็นสุขและได้ใช้ศักยภาพเต็มที่
 
3. อ้อย
 
ผมรู้จักกับอ้อยตั้งแต่ม.4 สิ่งที่ผมประทับใจในตัวอ้อย คือ วิญญาณเสรีชน ซึ่งมีอยู่ในตัวอ้อยอย่างเปี่ยมล้น 
 
อ้อยเป็นเพื่อนขี่จักรยานกับผม คอยแนะนำที่หมายที่น่าไปหลายๆ แห่ง  ครั้งแรกที่ผมมีโอกาสขี่จักรยานไปสะพานแขวน (สะพานพระราม 9) เราไปด้วยกัน โดยเริ่มจากจุดนัดพบคือสุทธิสาร ผมนำทางเลียบถนนรัชดาภิเษกไป ตอนนั้นเราอยู่ม.5 นั่นน่าจะเป็นครั้งที่เราขี่จักรยานด้วยกันไกลที่สุดแล้ว จากนั้นผมยังคงตะลอนกรุงเทพฯ ด้วยจักรยานเรื่อยมา
 
จบม.5 อ้อยสอบติดคณะศึกษาศาสตร์ ศิลปะ ที่ม.ขอนแก่น ไม่ได้ม.ศิลปากรดังที่ใจหวังไว้  ผมยังจำคืนที่อ้อยขึ้นรถไฟที่สถานีสามเสนไปขอนแก่นได้ เพื่อนๆ อ้อยไปส่งกันหนาแน่นทีเดียว ปีถัดมาอ้อยมาสอบใหม่จนติดมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร มีช่วงปีหนึ่งที่ศิลปากรซึ่งอ้อยต้องมีนิทรรศการแสดงผลงาน ผมยังได้ไปดูงานออกแบบของอ้อย
 
ตอนที่อ้อยจบศิลปากร ผมไปงานรับปริญญาและเขียนการ์ดแสดงความยินดีให้  ผมเท้าความถึงหนังสือรุ่นที่ห้องเราทำกันขึ้นมาเองตามประสาเด็กๆ สมัย ม.5  เพราะในหนังสือรุ่นนั้น ในหน้าของอ้อย อ้อยเขียนข้อความที่ผมอ่านแล้วได้รับแรงบันดาลใจมากๆ สำหรับเด็กม.5 ตอนนั้น ในการ์ดแสดงความยินดีผมบอกอ้อยว่า สิ่งที่อ้อยเขียนในหนังสือรุ่นของห้องเรา เป็นแนวทางให้ผมกล้าดำเนินชีวิตอย่างเชื่อมั่นและศรัทธาในพลังของเสรีภาพ
 
หลังจากนั้น อ้อยโทรมาหาผมเพื่อจะบอกว่า สิ่งที่เขียนตอนนั้นเขียนขึ้นด้วยความคิดที่ยังเด็กพอสมควร เลยไม่สบายใจว่ามันจะถูกต้องทั้งหมดรึเปล่า และกลัวว่าผมจะไปยึดติดกับสิ่งที่เขาไม่ได้กลั่นกรองมาดีพอ
 
ตอนนั้นผมเรียนจบแล้ว ผมบอกอ้อยว่า ไม่ต้องเป็นห่วงเลย เพราะผมก็มีประสบการณ์ ชีวทัศน์ และโลกทัศน์แบบของผมด้วย จากสิ่งที่หล่อหลอมผมระหว่างช่วงเรียนปริญญาตรี โดยสิ่งที่อ้อยเขียนไว้ถือเป็นแนวคิดพื้นฐานหนึ่งที่ผมเอาไปใช้ประกอบในนั้นแต่ไม่ใช่ทั้งหมด
 
เหมือนว่าอ้อยไปทำงานอยู่พักหนึ่งแล้วตัดสินใจมาเอ็นท์ใหม่เข้านิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์  ต้องเรียนกับเด็กที่ห่างกันหลายปี แต่อ้อยก็เรียนจนจบ จากนั้นไปรับราชการอยู่ที่ปปง. เป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน  ตอนนัดเจอคุยกันครั้งนั้น (น่าจะปี 2549) ผมยังแสดงความทึ่งว่า ไม่คิดจริงๆ ว่าอ้อยจะเดินมาในทางนี้ เพราะใครๆ รู้ดีว่าอ้อยเป็นศิลปิน  อ้อยบอกว่าอย่าว่าแต่ผมเลย อ้อยเองก็ยังคิดไม่ถึงเหมือนกันว่าจะมาบนเส้นทางนี้ แต่อ้อยยังคงวาดภาพถ่ายภาพอยู่บ้างไม่ได้ทิ้งไปหมด….ผมนึกในใจว่า ที่ผมเชื่อมั่นในวิญญาณเสรีชนของอ้อยนั้นไม่ผิดเลยจริงๆ ไม่มีเพื่อนผมคนไหนที่ชีวิตการเรียนและการงานผกผันขนาดนี้ ในอีกมุมหนึ่งมันคือการใช้ชีวิตที่คุ้มค่ามากๆ ด้วย
 
ล่าสุดได้คุยกับชิ้น ๆ เล่าว่า อ้อยไม่ได้ทำงานปปง. แล้ว  ออกมาทำอะไรอิสระของเขาเอง เกี่ยวกับวาดๆ เขียนๆ นี่แหละ ….เฮ้อ วิญญาณเสรีชน
 
4. ความจอมปลอมไร้แก่นสาร
 
หากเราเชื่อว่าภาระหนึ่งของการเป็นมนุษย์คือการเลือก การกล้าที่จะรับผลลัพธ์ซึ่งตามมาจากการเลือกของเราย่อมถือเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน…ผมเองมีชีวิตช่วงหลังเรียนจบที่ผกผันพอสมควร  อย่างไรก็ตาม ผมภูมิใจกับการมีเพื่อนที่กล้าหาญและศรัทธาในเสรีภาพ เป็นความกล้าหาญที่แสดงให้ผมเห็นจริงๆ ไม่ใช่แค่วาจา
 
อาจจะเพราะการเติบโตมาแบบนี้หรือเปล่า ทำให้นิยมชมชอบและศรัทธาเพื่อนที่มีลักษณะเด่นเรื่องการแสดงออกซึ่งวิญญาณเสรีชน
 
พี่โย คือเสรีชนขนานแท้คนหนึ่ง ผมศรัทธาพี่โยตั้งแต่แรกรู้จัก  นอกจากการตระเวณเที่ยวแบบยาจกด้วยกันบ่อยๆ แล้ว การเลือกวิชาเรียน (พี่โย คงเป็นคนเดียวในคณะที่เรียนวิชาโท ไทยศึกษา) การวางตัวของพี่โยเป็นสิ่งที่ผมเคารพศรัทธาเสมอมา  หลายๆ คำสอนหรือคติเตือนใจของพี่โยช่วยกอบกู้ความรู้สึกผมไว้  ครั้งที่ผมไม่เคยลืมคือ ""น้องนู่จะมีความสุขรึเปล่า อยู่ที่ดัชนีชี้วัดความสุขของน้องนู่เปลี่ยนไปรึเปล่า"  ซึ่งเป็นโอวาทที่พี่โยให้ผม ณ food center ของห้างบางลำภูบางโพ วันที่เราขึ้นจากเรือด่วนแล้วไปที่นั่นด้วยกัน ผมไปเป็นเพื่อนพี่โยทำธุระ
 
ณ วันนี้ เป็นวันที่ผมคิดว่าตนเองกำลังเผชิญมรสุมเล็กๆ ลูกหนึ่ง เป็นมรสุมที่เล็กเพราะว่า หากไม่เอาใจจดจ่อกับมันอาจจะไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลย  เมื่อต้องการคำปรึกษาก็นำมันมาหารือกับคนที่ใกล้ชิดทางความรู้สึกหากมีโอกาส เพราะคนที่ใกล้ชิดทางกายภาพอาจจะเป็นคนที่ห่างเหินกันทางความรู้สึกได้
 
ต้องยอมรับว่าที่ผมนึกถึงเพื่อนเก่าๆ อย่างยอด ปวีณ และอ้อย นั่นเพราะผมศรัทธาในการบรรลุเสรีภาพของเขา สำหรับมนุษย์จะมีอะไรมากไปกว่านั้นอีก คือ พร้อมจะเดินไปบนเส้นทางที่ตนศรัทธา ไม่สนใจความจอมปลอมใดๆ แล้วอยู่กับสิ่งที่ตนเป็นสุข   โดยเฉพาะในยามที่ผมกำลังรู้สึกว่า ชีวิตรอบข้างในปัจจุบันมันจอมปลอมเหลือเกิน คนก็จอมปลอมไร้แก่นสาร งานก็จอมปลอมไร้แก่นสาร ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเราจะมีโอกาสบรรลุเสรีภาพและไปจากแวดวงจอมปลอมบ้างหรือเปล่า?  คำตอบมีแต่ต้องพยายามลองดูก่อน
 
นุกบอกผมว่า "คนที่มีอัตตาต่ำก็จะเป็นผู้ให้และผู้ให้ก็จะได้รับ (ความสุข) กลับมามากที่สุด" นั่นทำให้ผมหวนคิดว่า ช่างจริงนัก  มิตรที่ได้มาในยามที่เราไม่มีอะไรเลย เป็น nobody ทำให้ผมรู้จักโลกที่แท้จริงได้มากกว่า  ระยะหลังๆ เหมือนว่าชีวิตจะจมอยู่กับโลกที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมากเหลือเกิน
 
หน้าที่การงานทำให้ต้องขลุกอยู่กับโลกที่ประดิษฐ์สร้างเหล่านี้ เพราะถ้าคุณอยู่กับโลกที่คนเขาให้เกียรติมากๆ มีอภิสิทธิ์สารพัด นั่นย่อมเป็นโลกที่ประดิษฐ์มาให้แล้ว  มันยังพลอยประดิษฐ์ไปถึงความรู้สึกและการมองโลก เช่น ถูกประดิษฐ์ความคิดให้ต้องเชื่อว่าชุมชนไทยมันต้องรักกันและเข้มแข็งไปซะทั่วโลก เพื่อส่งเสริมอุดมการณ์หลัก-ค่านิยมหลักของรัฐไทยให้ยืนยงสถาพร  หรือ การประดิษฐ์ความคิดตนเองให้เสพติดการกล่าวอ้างว่าชื่นชอบชีวิตแบบคนธรรมดาๆ เป็นคนเรียบง่าย แต่แท้จริงกระโดดเข้าหาเกียรติยศทุกโอกาสและเลียตีนศักดินาทุกโอกาส (..ไม่อยากจะใช้ภาษาที่ยืมมาจากคนที่เป็นซ้าย แต่หาคำอื่นไม่ได้จริงๆ )
 
เปรียบเทียบแล้ว คุณค่าช่างเทียบกันไม่ได้เลยกับคนที่สอนให้ผมรู้คุณค่าของเสรีภาพ รู้คุณค่าของการสัมผัสแง่มุมที่แท้จริงของชีวิต  แม้แต่การคบหาผู้คนก็ควรเป็นไปตามเจตจำนงที่เสรี ถ้าพอใจจะรักษาระยะห่างกับใครแค่ไหนนั่นควรเป็นสิทธิโดยชอบธรรม 
 
ส่วนการทำงานรับใช้ระบบกลวงๆ หรือจอมปลอม นับเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเสรีภาพอยู่ไม่น้อย  กระนั้นก็ตาม….ความโดดเดี่ยวในเงื่อนไขรอบข้างที่จอมปลอมไร้แก่นสาร จะยิ่งช่วยขับเน้นความสำคัญของมิตรภาพและเสรีภาพที่แท้
 
ข้อความนี้ถูกเขียนใน Uncategorized คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น