เป็นอย่าง Marx อย่าเป็นอย่าง Hegel

 
ในเบื้องแรก สิ่งที่ผมนึกถึง คือ 8 เทพอสูรมังกรฟ้า  ภาพของความเชี่ยวกรากของกระแสชาตินิยมล้าหลัง-ปฏิกิริยา ซึ่งบ้างเรียกกันว่า คลั่งชาติ นั้น รุนแรงยิ่งนัก   ผลโพลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระแส แต่โพลไม่อาจหมายเอาความจีรังได้เต็มที่นัก
 
เหตุการณ์นับแต่การฉีกหน้างาน ASEAN Summit  บิ๊กจิ๋วเผยตัวและเริ่มเดินทางเยือนเพื่อนบ้าน กัมพูชาจะตั้งคุณทักษิณเป็นที่ปรึกษา ไทยเรียกทูตกลับ กัมพูชาเรียกบ้าง ข่าวเรื่องการระงับความร่วมมือต่างๆ และกรณีทักษิณกับ timesonline  ทั้งหมดเกิดขึ้นต่อเนื่องกันช่วงปลายต.ค. – ต้น พ.ย. 2552
 
ผมได้อ่านบทความในประชาไท 2 บทความ  ของ อ.พวงทอง เรื่อง ความมั่นใจในตนเองของกัมพูชา (http://www.prachatai.com/journal/2009/11/26515)  และ คุณสุภลักษณ์ เรื่อง ความรักนั้นแสนสั้น แต่ความแค้นนั้นแสนยาว (http://www.prachatai.com/journal/2009/11/26502) ซึ่งล้วนเป็นบทความที่ออกมาเร็ว แต่เฉียบคมในประเด็นที่ท้วงติง 
 
ส่วนตัวผมเองรวบความคิดเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางการเมืองในช่วงข้างต้นไว้ ดังนี้
 
1. มิติทางการเมือง 
 
ผมไม่เห็นด้วยและขอประณามคำกล่าวอ้างของรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ว่า ชาวไทยส่วนใหญ่ไม่พอใจที่กัมพูชาแทรกแซงไทย (โดยการอ้างว่าทักษิณไม่ได้รับความเป็นธรรม) และวิจารณ์กระบวนการยุติธรรมของไทย   รัฐบาลเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยก็จริง แต่การออกแถลงการณ์บางอย่างไม่ถือว่านำมาอ้างอธิปไตยสูงสุดของประเทศได้เต็มร้อย โดยเฉพาะประเด็นทางการเมืองที่คนทั้งประเทศไม่ได้เห็นไปในทิศทางเดียวกัน  (อำนาจบริหารไม่ได้ทำให้รัฐบาลเป็นตัวแทนทางการเมืองครับ….เป็นแค่ฝ่ายบริหารและบริหารในนามอำนาจอธิปไตย  การออก statement อ้างชื่อคนทั้งประเทศ โดยยังมีความขัดแย้งทางการเมืองในประเด็นนั้นภายในประเทศ (ซึ่งไม่ใช่งานบริหาร) จึงไม่เหมาะ)
 
แต่การกระทำที่รุนแรงทั้งหมดอาจเป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้คิดเอาไว้ก่อนแล้ว  อย่างน้อยนับแต่ช่วง ASEAN Summit เป็นต้นมา ที่คงเกิดความคิดว่าต้องแสดงออกซึ่งความไม่พอใจบ้าง  เพราะบุคลิกของอภิสิทธิ์และนายกษิตนั้น ผมว่าเขาเจ้าคิดเจ้าแค้นและชอบเอาชนะ การโดนหักหน้าขนาดนี้จะอย่างไรเสียคงต้องตอบโต้แน่ 
 
อีกข้อหนึ่งคือ เป็นรัฐบาลมาเกือบปี  แต่พวกเขาหาทางลงไม่ได้จากกรณีที่เคยโจมตีรัฐบาลพลังประชาชนไว้ไม่ได้ ไม่ว่าจะเรื่องขายชาติ ขายแผ่นดิน และจะเอาปราสาทพระวิหารคืน   ครั้นได้เป็นรัฐบาลเอง กลับมีแต่ตั้งรับและเกิดกระแสวิพากษ์ว่าพวกเขาอยู่ในวังวนว่าจะหาทางลงให้สวยงามอย่างไร ไม่ให้ขายหน้า เพราะสิ่งที่ประกาศไว้สมัยเป็นฝ่ายค้านนั้น จริงๆ แล้วทำไม่ได้
 
การหาทางลงด้วยไม้แข็ง-วิธีพาลเพื่อนบ้าน (มี กรณีกัมพูชาแต่งตั้งทักษิณ มาเป็น Gift from Mars พอดี) จึงได้ใจกองเชียร์แม้ว่าในแง่สารัตถะจะว่างเปล่า  ว่างเปล่าเพราะมันไม่ช่วยทำให้สิ่งที่พูดสมัยฝ่ายค้านเป็นจริงแต่อย่างไร (ปราสาทกลับมาเป็นของไทย?) แต่กลับแก้เก้อได้ดีนัก (กองเชียร์คลั่งชาติปลาบปลื้มว่า นี่ไงเล่นแรงใส่มันแล้ว)
 
การเลือกทางลงเช่นนี้ สำหรับผมคือความเห็นแก่ตัวและหลอกลวงทั้งตนเองและผู้อื่น  หลอกตัวเองเพราะคิดแต่ว่าเป็นพี่เบิ้ม ถ้าขาดเราแล้วเขาจะตายซึ่งผิด   ส่วนที่ว่าหลอกคนอื่นเพราะเอาภาพความรุนแรงมาสร้างว่าตนเด็ดขาด  แต่จริงๆ แก้ไขคำโกหกสมัยเป็นฝ่ายค้านไม่ได้เลย
 
ที่สำคัญที่สุด คือ ศตวรรษนี้แล้วคนฉลาดย่อมไม่เลือกที่จะสร้างความตึงเครียดชายแดนระหว่างประเทศใดๆ ก็ตาม  เพราะประชาคมโลกไม่มีทางยอมให้ก่อสงครามด้วยเหตุผลงี่เง่าๆ  และเราเองจะกลายเป็นตัวตลก
 
2. มิติประวัติศาสตร์ชาตินิยม
 
ผมเฝ้ามองปรากฎการณ์เรื่องพระยาละแวก การเนรคุณแผ่นดิน (ในบางส่วนเน้นไปที่กษัตริย์) รวมทั้งอารมณ์ของผู้คนที่แสดงออกทาง message ท้ายชื่อ MSN
 
ความรู้สึกแรกผมนึกเปรียบกับ 8 เทพอสูรมังกรฟ้า  ช่างเหมือนกับขบวนของผู้กล้าชาวซ้อง เมื่อได้ข่าวว่าพวกซิตันจะมาบุกเส้าหลินชิง 72 ยอดวิชา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนการยึดตงง้วนและอาณาจักรซ้อง  พวกเขาไม่ลังเลที่จะก่อโศกนาฏกรรมอันรุนแรงป่าเถื่อนที่พวกเขาต้องสำนึกผิดไปชั่วชีวิต
 
รู้สึกผิดเพราะการปล่อนตัวให้อุปทานฟุ้งซ่านไปเชื่อขาวโคมลอย แต่เพราะเป็นโคมลอยที่ช่างกระทบต่อต่อมชาตินิยม   ในการลงมือโศกนาฏกรรมครั้งนั้น ผมเข้าใจว่าเหตุที่ต้องสำนึกผิดไปชั่วชีวิตเพราะ สัญชาติญาณบอกว่าไม่ควรทำ (ยอดฝีมือ 1 ฝูง ลงมือใส่ พ่อ แม่ ลูกอ่อน 3 ชีวิต และมีแต่พ่อเท่านั้นที่มีวรยุทธ์….นี่หรือจะไปขโมยวิชาฝีมือบนเขาเซี่ยวซิกฮง!!!!) แต่เพราะความกลัวครอบงำ จนยอมตัวให้ละเลยสัญชาติญาณ
 
ฉันใดก็ฉันนั้น…สัญชาตญาณของมนุษย์ย่อมอยากอยู่อย่างสงบ โดยเฉพาะกับเพื่อนบ้านที่หนีกันไปไหนไม่ได้  แต่ความคลั่งชาติทำให้สังคมไทยขาดสติ
 
อารมณ์ร่วมของสังคมไทยตอนนี้แทบไม่ต่างกันเลย  คำประเภท  ตัวไทยใจเขมร  พึ่งพระบรมโพธิสมภารแต่ทรยศ ฯลฯ พรั่งพรูเต็มไปหมดบน MSN contacts  คอลัมนิสต์ในไทยรัฐเกือบทั้งหมดหันไปโหนกระแสชาตินิยม ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีท่าทีรู้ทันรัฐบาลอภิสิทธิ์ค่อนข้างมาก  ผมคิดว่านี่พอจะถือเป็นตัวอย่างของความคลั่งชาติบังตา (ที่จริงบดบังสติปัญญา)  และทั้งหมดคือเหตุให้กระแสคลั่งชาติโหมกระพืออย่างรุนแรง
 
เมื่อมีเรื่อง timesonline มาเสริมอีกเลยยิ่งไปกันใหญ่ เพราะเรื่องสถาบันกษัตริย์ก็รู้ๆ กันอยู่ว่า จุดเมื่อไรไฟติดเมื่อนั้น   สำหรับผม คงรู้สึกเหมือนคุณธนาพล (บก. ฟ้าเดียวกัน) และฝ่ายหัวก้าวหน้าทั้งหลายที่อ่านบทสัมภาษณ์แล้วบอกว่า "ไม่เห็นจะมีอะไรเลย"  ไม่รู้เป็นเพราะฝ่ายหัวก้าวหน้าอยู่กับการวิพากษ์เชิงวิชาการ (ที่ไม่หมิ่นแน่ๆ) ซึ่งไปไกลกว่าทักษิณเยอะแล้วหรือเปล่า เลยพร้อมใจกันพูดว่า ไม่เห็นเป็นประเด็น…ซึ่งจริงๆ ทักษิณไม่เคยคิดเรื่องบ้าๆ อย่างที่เขาโดนใส่ความอยู่แล้ว  ความข้อนี้ อ.สมศักดิ์ เคยวิเคราะห์ไว้อย่างดี  รวมทั้งคนที่ติดตามพัฒนาการของความขัดแย้ง (ติดตามแบบไม่ใช่แค่ตามอ่าน Manager) ย่อมเห็นชัดขึ้นๆ ทุกวันว่า มันคือการปะทะของกลุ่มพลังจารีตนิยม นำโดย Network Monachy กับพลังประชาธิปไตยเกิดใหม่ 
 
แต่ในระยะยาวผมคิดว่าคนเหล่านี้ (คลั่งชาติ) จะต้องสำนึกผิดเหมือนกับขบวนการผู้กล้าชาวซ้องใน 8 เทพอสูรมังกรฟ้า และบัดนี้เราอยู่ในโลกที่พัฒนามาแบบ anti สงครามและยกย่องการทูต การตัดสัมพันธ์ทางการทูตและสร้างปัจจัยเสี่ยงต่อสงครามนั้น จะต้องเผชิญแรงกดดันจากชุมชนระหว่างประเทศแน่นอน   เพียงแต่ขณะนี้ไฟคลั่งชาติ+คลั่งเจ้ารุนแรงจน คนทั้งในและนอกประเทศที่คิดต่างคงเลือกสงบปากสงบคำไว้ก่อนทั้งนั้น แต่เชื่อเถอะว่าชาตินิยมจะกัดกินตัวเอง
 
คนที่ไม่เห็นด้วยกับการปลุกกระแสคลั่งชาติอย่างน้อยต้องมีเท่าเดิมหรือไม่ก็มีมากขึ้น เรียกว่าไม่ได้ลดลงเลย (เหตุผลอยู่ในข้อ 3) แต่ไม่เป็นข่าว  เพราะทุกคราวที่ผ่านเรื่องทำนองนี้ ถือเป็นธรรมดาที่ในยามกระแสเชี่ยวกราก คนที่ทวนกระแสจะลดการแสดงความเห็นและข่าวจะไปออกในฝั่งที่ทำตัวเป็นข่าวประเภท รักชาติจนยอมให้ใครมาหยามไม่ได้   ที่ชัดมากๆ คือ คราวพธม. ใช้เรื่องพระวิหารโจมตีรัฐบาลก่อน หรือคราวยินดีปรีดากับรัฐประหาร 19 ก.ย.  ในภาวะแบบนั้นมันยากมากเรื่องการแสดงความคิดหรือเหตุผล กระแสจึงเทไปทางคลั่งชาติทั้งหมด เพราะจุดใหญ่คือ คนไทยเหมือนโดนปลูกฝังมาให้จุดกระแสชาตินิยมเมื่อไรก็ติดเมื่อนั้น  แต่เมื่อเวลาผ่านไป เชื่อว่าบรรยากาศเปิดกว้างรับฟังจะมีมากขึ้น
 
สำหรับขบวนการเสื้อแดง กระแสตีกลับสู่คนเสื้อแดงเองและทำให้การขับเคลื่อนขบวนหยุดชะงักลงอย่างมาก   แต่ดังที่หนังสือพิมพ์ต่างๆ ลงบทวิเคราะห์ไว้ว่า นี่เป็นจุดอ่อนของทักษิณที่ถูกตีเมื่อไรต้องแพ้ (ไม่ได้แปลว่าเขาคิดหรือทำตามนั้นจริงๆ แต่เป็นเรื่องของภาพ)   ดังนั้น ผมเคยคิดอยู่ว่า ยังไงๆ กระบวนท่าชาตินิยมต้องถูกนำมาใช้อีก เพียงแต่ไม่นึกว่าจะเร็วปานนี้  อย่างไรก็ตาม ผมไม่เชื่อว่าการตีโต้ของพลังจารีตนิยม-ชาตินิยมนั้น จะมีผลต่อเสื้อแดงมากมายแต่อย่างใด เหตุผลอยู่ในข้อถัดไป
 
3. มิติการเคลื่อนไหวทางการเมือง
 
พัฒนาการของฝ่ายเสื้อแดงนั้น จะอย่างไรเสียผมเห็นว่ามีการซึมซับกรอบวิธีคิดแบบ Progressivism ไปมากแล้ว  ผมจึงมีความเชื่อส่วนตัวว่า คนที่สมาทานความคิดที่เปี่ยมเหตุผลไปในระดับหนึ่งแล้ว จะไม่เปลี่ยนข้างเพียงเพราะกระแสคลั่งชาติ
 
อย่างที่บอกไว้ว่า การจุดกระแสคลั่งชาติขึ้นมาอีกครั้งจนเหมือนรัฐบาลประชาธิปัตย์กลับมากุมชัยชนะได้ เป็นเพียงชัยชนะที่ว่างเปล่าและเล่นกับความรู้สึกล้วนๆ   เหตุผลสำคัญ คือ การเลือกทางออกเช่นนี้ไม่ได้แก้ปัญหาใดๆ ในชาติที่มีมาก่อนนี้เลย   ปัญหาเหล่านั้น เช่น ปัญหาตำรวจ ทุจริตไทยเข้มแข็ง-ชุมชนพอเพียง ความไม่ชอบธรรมในการขึ้นสู่อำนาจ ความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล กระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน-ตุลาการพิฆาต ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การไม่เคารพเสียงเลือกตั้งของคนที่ไม่ได้เลือกฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน ความถือดีของนายกฯ ฯลฯ   ถ้าลองถามตัวเองอย่างแฟร์ๆ เราจะรู้ว่า ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ถูกแก้ลงไปเลย   หนังสือพิมพ์หลายฉบับเขียนราวกับว่า ประชาธิปัตย์แก้เกมเก่ง พร้อมโกยคะแนนจากกระแส โพลก็ว่างั้น เผลอๆ เลือกตั้งได้เลย  ซึ่งผมว่าไร้สาระไปหน่อย เพราะไม่มีอะไร concrete พอที่จะสรุปตามนั้นได้เลยจริงๆ   
 
สมมติฐานของผมคือ คนที่ไม่พอใจกับเรื่องเหล่านั้นที่ผมยกมา (ส่วนมากคนเสื้อแดง) เชื่อเลยว่า เขาคงไม่กลับลำเปลี่ยนมาเชียร์รัฐบาลเพียงเพราะเห็นท่าทีแข็งกร้าวในการตอบโต้เขมรหรือไล่บี้ทักษิณเพราะเรื่องสัมภาษณ์   พูดง่ายๆ ว่าอะไรที่คาใจก็ยังคาใจอยู่แน่นอน  เท่าที่เห็น พวกที่เสียงดังขึ้นมาตอนนี้คือฐานคะแนนของประชาธิปัตย์ กับ พธม. เองนั่นแหละ ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีจังหวะอะไรจะให้ได้โห่ฮานัก ตอนนี้จังหวะมีแล้วเลยเสียงดัง
 
เสื้อแดงที่มีการปูพื้นฐานความเคื่อนไหวโดยตั้งอยู่บนความไม่ชอบธรรมต่างๆ ของรัฐบาลนี้  น่าที่จะเอาประเด็นที่ตนเห็นว่าขัดแย้งอย่างสำคัญเป็นเครื่องประเมินมากกว่าการถูกปลุกเร้าจากกระแสคลั่งชาติผ่านการตอบโต้เขมร   ส่วนเรื่องโพลผมว่าเพราะข่าวออกมาเรื่องไหนแรง โพลก็จะไหลไปตามนั้น  กระนั้นก็ตาม หากมีเสื้อแดงที่หันกลับลำเพียงเพราะอ่อนไหวกับกระแสคลั่งชาติ+คลั่งเจ้าแล้วล่ะก็ ขอให้ทำใจไว้ได้เลยว่า นั่นคงเป็นแค่แดงอ่อนๆ ที่หลักการยังไม่แน่น  ….แต่เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง Hegel
 
Hegel สร้างปรัชญาเชิงจิตนิยม (Idealism) ของเขาขึ้นมาอย่างน่าศึกษา ว่าด้วยเรื่องพัฒนาการของประวัติศาสตร์มนุษย์ว่าไปเกี่ยวอะไรกับ Spirit   แต่บทจบที่ไม่สวยของเขาและโดนโจมตีจนทุกวันนี้ คือ เขาจบว่า Prussia คือตัวแบบของปลายทางแห่งประวัติศาสตร์ เป็นจุดหมายที่ Spirit จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเอง  เหมือนกับว่า คิดมาแทบตายแต่ดันมาจบแบบชาตินิยมที่ไม่สมจริงเอาซะเลย
 
Marx มาทีหลัง ซึ่งนอกจากจะกลับหัวกลับหางปรัชญาของ Hegel ไปเน้นที่วัตถุนิยม (Materialism) แทนแล้ว  อานุภาพที่สำคัญของ Marx คือการข้ามเรื่องชาตินิยมไปสู่เรื่องชนชั้น และพยากรณ์ไปถึงเรื่องขบวนการแรงงานระดับระหว่างประเทศ (International)   ฐานวิเคราะห์ของ Marx ไม่ได้ถูกทั้งหมดและเหมือนจะแพ้ทุนนิยมในที่สุด (หลัง USSR ล่มสลาย)  ที่จริงผมไม่ได้มีความรู้ลึกซึ้งในเรื่องนี้เลย แต่ผมว่าการล่มสลายของ USSR ไม่ค่อยเกี่ยวกับ Marx เท่าไร   พูดง่ายๆ ระบบสังคมนิยม (Socialism) เป็นคนละส่วนกับสังคมปลายทางแบบ Communism ของ Marx   ยังไม่นับว่าภาพลักษณ์แบบเผด็จการ (Authoritatian) ที่มาปนด้วยจนมั่วไปหมด    เอาว่า ถ้ามันมี Non-Marxist Socialist ได้  ย่อมแปลว่า การที่เป็น Socialism กันนั้น ไม่ได้ต้องมี Marxism เป็น prerequisite
คงไม่ไปไกลกว่านี้ในประเด็นนี้  เพียงจะขอโยงกับเสื้อแดงนิดเดียวว่า การเคลื่อนไหวของเสื้อแดงจงอย่ารวน ถ้ารักจะเป็นนักคิดและเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคม ต้องไม่จบแบบ Hegel คือ คิดๆ ไปแทบตายแต่เจอชาตินิยมแล้วจอดสนิททันที   ต้องก้าวข้ามกระแสชาตินิยมได้แบบ Marx จึงจะเห็นประเด็นความขัดแย้งที่ชัดขึ้นและไม่เสียจุดยืน
 
…..เมื่อนั้นปัญญาจะสร้างภูมิคุ้มกันจากกลุ่มอาการคลั่งชาติและคลั่งเจ้าติดตัวไว้อย่างถาวร 
ข้อความนี้ถูกเขียนใน Uncategorized คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

2 ตอบกลับที่ เป็นอย่าง Marx อย่าเป็นอย่าง Hegel

  1. Piyabutr พูดว่า:

    สวัสดีครับ ผมหลงทาง ผ่านมาโดยบังเอิญ พอดีเสิร์ชกูเกิ้ลไทย อยากหาว่า Syllogism แปลเป็นไทยว่าอะไร เจอบล็อกคุณเข้าพอดี เลยย้อนกลับไปอ่านเพลินเลย ขออนุญาตเอาบล็อกของคุณไปแปะในเฟซบุ๊คผมนะครับ หากไม่อนุญาต แจ้งผมได้เลย จะได้เอาออกให้ เพราะ เกรงว่าจะกระทบต่อหน้าที่การงานคุณเหมือนกัน แหม่ ยิ่งเจ้ากระทรวงคนนี้แล้วด้วย อิอิปิยบุตร

  2. Supavit พูดว่า:

    อ.ปิยบุตร ครับสารภาพว่าดีใจมากเมื่อทราบว่ามีคนเก่งๆ อย่างอาจารย์มาอ่าน Blog ของผม ผมเองติดตามงานของอาจารย์อย่างสม่ำเสมอ ตอนที่ผมเริ่มอ่าน Blog ของอาจารย์รวมทั้งคมลัมน์ใน Open ผมก็อ่านอย่างเพลิดเพลินเช่นกันเรื่องเอา Blog ผมไปแปะในเฟซบุ๊คของอาจารย์ผมยินดีอย่างยิ่ง แต่ต้องสารภาพว่า ที่ตอบช้ามากๆ (3 เดือน) เพราะไม่ได้เข้ามาดูแล Blog เลย วุ่นวายกับการ relocate และกลับมาเริ่มอาชีพสอนหนังสือ ….ที่สำคัญกิจกรรม Blog ซบเซาจนไม่นึกว่าจะมีคนผ่านมาอ่านขอบคุณอีกครั้ง และดีใจที่ได้มีโอกาสติดต่อกันครับศุภวิทย์

ส่งความเห็นที่ Supavit ยกเลิกการตอบ